วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เพื่อนรักเพื่อนเกลอ

เพื่อนรักเพื่อนเกลอ
    แถวชนบทในจังหวัดแถวภาคกลาง จะมีวัฒนธรรมสัมพันธไมตรี คือการจับเอาลูกหลานที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นหนุ่มสาว จับเอามาผูกข้อไม้ข้อมือเพื่อเป็นเพื่อนกัน  ในแต่ละหมู่บ้านแถวชนบทผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันหมด เพราะว่าวัฒนธรรมประเพณีเอื้ออำนวยให้คนได้รู้จักกัน แต่ละปีในแต่ละหมู่บ้านจะมีงานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานโกนจุกและงานปิดทองไหว้พระประจำปีของแต่ละวัดในแต่ละตำบล



  เจ้าของงานก็จะพิมพ์การ์ดเรียนเชิญมาร่วมงาน จำนวนหลายร้อยใบ เพื่อเชิญมากินเลี้ยง(ก็คือมากินข้าวร่วมกันหรือมารับประทานอาหารร่วมกันนั่นเอง)ยานพาหนะที่ใช้ในสมัยนั้นก็คือรถจักรยานหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือรถถีบ ทางก็เป็นลูกรังสีแดงส้มขรุขระ มีหลุมมีบ่อฝนตกลงมา น้ำก็ขังตามแอ่งที่อยู่บนถนน ต้องถีบจักรยานหลบเป็นพัลวัน ถ้าหลบไม่ทันก็ถีบฝ่าไปกลางแอ่งน้ำ จนน้ำแตกกระจายไปทั้งสองข้าง คนที่ถีบตามมาก็โดนน้ำลูกรังสีแดงกระเด็นสาดเข้าเต็มตัว เปียกม่อลอกม่อแลกและก็หัวร่อกันอย่างสนุกสนาน ไม่ถือโทษโกรธกัน ถ้าใครที่ตั้งใจที่จะแกล้งคนอื่นเขา วันหน้าก็จะถูกแกล้งเอาคืนเช่นกัน


    ในงานกินเลี้ยงนั้นในแต่ละครอบครัว ก็จะนำลูกหลานไปกินเลี้ยงด้วย เพิ่มความดีใจเป็นอย่างมาก สำหรับหนุ่มน้อย สาวน้อยทั้งหลาย ที่รอโอกาสนี้ จะได้ไปเที่ยวบ้านที่มีงาน บางครั้งก็ได้เจอเพื่อนที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน พอเจอกันปุ๊บ ก็วิ่งเข้าไปหากันปั๊บ ยังกับไม่เคยเจอกันมาหลายวัน ทั้งที่เมื่อวันศุกร์ ก็ยังเล่นด้วยกันที่โรงเรียน เพื่อนที่เป็นลูกเจ้าของงาน ก็จะดีใจเป็นอย่างมาก บางครั้งก็ชวนกันไปเล่นด้วยกันจนลืมกินข้าว ผู้ปกครองต้องเอ่ยปาก ให้มากินข้าวก่อนแล้วค่อยไปเล่นต่อ


     บ้านไหนที่มีฐานะดี บวชลูกชายก็จะหาลิเกมาแสดง ในสมัยนั้นเวทีที่แสดงก็จะสร้างแบบง่ายๆ ใช้ไม้ไผ่ ทำเป็นโรงลิเก หลังคาเอาก้านมะพร้าวมามุมกันน้ำค้าง และใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่ๆ กั้นเเป็นห้องเพื่อจะได้กั้นฉากลิเกได้ เด็กๆไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็จะชอบไปเล่นแถวๆหลังโรงลิเก เพราะว่าจะได้ดูลิเกแต่งตัวด้วย นานๆครั้งจะได้เห็นลิเกแต่งตัวสวยๆสักที บางคนนั่งมองดูตาไม่กระพริบเลยก็มี


    เมื่อพ่อแม่พาลูกพาหลานมาในงานที่จัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร ก็จะถือโอกาสนี้ จับลูกหลานที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน นำมาผูกข้อมือเพื่อจะได้เป็นเพื่อนกัน มีงานอะไรก็จะได้มาช่วยกัน เพราะสมัยนั้นเทคโนโลยี ยังไม่เจริญต้องใช้แรงงานคนเท่านั้น สังคมก็ยังเป็นสังคมเกษตรกรรม จะเกี่ยวข้าวดำนาก็ต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน เพื่อให้เสร็จทันเวลาหรือที่เขาเรียกกันว่าลงแขกนั่นเอง


    นี่คือที่มาของคำว่าเพื่อนเกลอ เป็นเรื่องราวแค่เพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ที่นำมาเล่าสู่กันฟังพอจะได้ใจความ ความมีน้ำใจของคนสมัยก่อน ยากที่จะกล่าวเอาไว้ให้จบเพียงวันเดียว มันมีมากมายหลายร้อยหลายพันเรื่อง ที่จะมาเล่าสู่กันฟัง ถ้ามีโอกาสเอาไว้วันหน้า จะเอามาเล่าสู่กันฟังใหม่นะครับ

   บทกลอนในความเป็นเพื่อน ที่ยังไม่เลือนไปจากความทรงจำ มาอ่านกันเพลินๆลองย้อนไปในอดีต ที่มีความทรงจำดีๆ กับเพื่อนบางคนหรือหลายๆคน ที่เป็นเพื่อนเกลอ อาจจะสะดุดใจสักแว๊บ ขึ้นมาก็ได้ เชิญอ่านได้ครับ

     เพื่อนรักเพื่อนเกลอ
   เนิ่นนานมาหลายปีความดีเพื่อน
ยังไม่เลือนหายไปให้คิดถึง
สิ่งที่ดีทำมายังตราตรึง
ให้คำนึงถึงเพื่อนไม่เลือนลา

   คอยช่วยเหลือเกื้อกูลไม่สูญสิ้น
ไม่เคยหมิ่นน้ำใจให้ไขว่คว้า
มุ่งการเรียนทำงานอ่านตำรา
ช่วยกันหาความรู้อยู่ด้วยดี

   บางครั้งเงินไม่มีถึงทีเพื่อน
ไม่เคยเลือนจางหายหรือหน่ายหนี
เลี้ยงข้าวเรามีบ้างในบางที
ยังเป็นหนี้อยู่เลยไม่เคยเลือน

   ไปเที่ยวบ้านทุกครั้งยังจดจำ
พี่สาวทำแกงไก่ใครไม่เหมือน
อร่อยมากบอกไว้ให้คอยเตือน
พี่สาวเพื่อนแสนดีที่สุดเลย

   ความจดจำยังอยู่มิรู้จบ
ได้มาพบเพื่อนจริงไม่นิ่งเฉย
สิ่งที่ดีจำไว้ให้เปรียบเปรย
ขอเอื้อนเอ่ยเพื่อนรักยังปักใจ

   แม้เวลาผ่านไปให้ไกลลิบ
จะขอหยิบตำนานเล่าข่านไข
เพื่อนเสมือนเดือนดาวพราววิไล
ส่องแสงได้ทุกครั้งดั่งเพชรทอง

   ทั้งเกี่ยวข้าวดำนาหาเลี้ยงชีพ
เพื่อนก็รีบจัดให้ไม่เป็นสอง
ช่วยเหลือกันอย่างไวไม่เป็นรอง
เพื่อนทั้งผองดาหน้าสามัคคี

   ทุกสิ่งนี้ดีแล้วไม่แจวจาก
ความลำบากยากไร้อย่าไปหนี
มีหรือจนแค่ไหนต่างถ้อยที
ฟ้าปรานีเมตตามาเป็นคน

   พ่อและแม่สร้างมาหาเลี้ยงชีพ
ก็จงรีบไขว่คว้าอย่าไปสน
จงเดินหน้าต่อไปให้อดทน
หาเลี้ยงตนสุจริตอย่าผิดธรรม































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น