วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

น้ำท่วม นารัก

น้ำท่วม นารัก🌾

    ☁☁  ท้องฟ้าที่มืดครึ้มเมฆสีดำทะมึน กำลังลอยใกล้เข้ามาในหมู่บ้านที่คนส่วนมาก มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนใหญ่ก็จะประกอบอาชีพทำนากันแทบทุกหลังคาเรือน ความวิตกกังวลของชาวบ้าน เริ่มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลมพัดมาเป็นระลอกๆแรงบ้างเบาบ้างในช่วงเวลาบางขณะ  หัวใจเริ่มเต้นถี่และแรงขึ้นๆ(เสียงพรึมพรำจากยายคนหนึ่งจับใจความได้ว่า) "เจ้าประคูณขอให้เจ้าป่า เจ้าเขา ได้โปรดเมตตาลูกช้างด้วยเถิดเจ้าค่ะ ขออย่าให้เกิดภัยพิบัติภยันอันตรายใดๆแก่ชีวิตและทรัพย์สินเลยนะเจ้าค๊ะ"นี่คือเสียงวิงวอนขอร้องที่ออกมาจากคนเฒ่าคนแก่ในสมัยนั้น ที่ส่วนใหญ่ยังนับถือภูติผี เจ้าที่เจ้าทางเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นเกราะกำบัง ที่จะทำให้ชีวิตมีความปลอดภัย เพียงเพื่อหวังว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน


   ⛅ ความยากจนข้นแค้น เผื่อจะได้เงินมากซักบาทซักสตางค์มันเหนื่อยยาก ทุกข์ทนทรมานเหลือเกิน ถ้ามาเกิดภัยพิบัติอีก ก็คงต้องสิ้นเนื้อประดาตัวเลยทีเดียว มองเห็นสายฝนตกเป็นทางยาวอยู่ไกลๆ และอีกคงไม่นานก็จะมาถึงหมู่บ้านเราแน่นอน"เก็บผ้ายังไอ้หนู"เสียงยายตะโกนถามหลานรัก"เก็บแล้วจ้า"หลานตอบอย่างไว ก้อนเมฆสีดำลอยเข้ามาใกล้ในทุกขณะ พร้อมกับลมที่พัดใบไม้ปลิวไสว ลู่ไปตามสายลม บ้างก็ขาดกระจุยปลิวว่อนไปกับสายลมก็มี แป๊บเดียวเสียงดังจั๊กๆอยู่บนหลังคา ที่มุมด้วยหญ้าคา ฝนเม็ดใหญ่พอสมควร สายลมที่พัดนำเอาฝนมานั้นก็อันตรธานหายไปในที่สุด ปล่อยให้ฝนตกอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้หนักเบาสลับกันไป สายฝนที่ตกลงมานั้นลักษณะเป็นแนวตรง(เหมือนดิ่งพสุธา)ตกต่อเนื่องเป็นเส้น เป็นสาย น้ำฝนขาวใสสะอาดหมดจด เมื่อฝนตกไปสักพักใหญ่ๆ น้ำฝนได้ชำระล้างฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก ที่อยู่บนหลังคาหมดแล้ว แต่ละบ้านก็จะนำภาชนะมารองน้ำฝนเอาไว้กิน ไว้ใช้ ใส่โอ่งเอาไว้หลายๆใบเพราะน้ำฝนเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ มีรสชาติออกจะหวานนิดๆได้ดื่มแล้ว แก้กระหายคลายร้อนได้ดีทีเดียว


  🌅 ตั้งแต่บ่ายสามโมงจนถึงขณะนี้ปาเข้าไปสองทุ่มแล้ว ฝนก็ไม่มีวี่แววว่าจะหยุดตกแต่ประะการใด แสงตะเกียง วอบแวบ วอมแวม แต่ละบ้าน ถูกจุดขึ้นมาเห็นเป็นแสงไฟ ระยิบ ระยับ ท่ามกลางสายฝนที่ยังตกอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเวลานี้เป็นเวลาที่ทุกๆบ้านจะนั่งล้อมวงกินข้าวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา หลังจากเสร็จภาระกิจจากการ ดำไร่ ดำนาเพราะวิถีชีวิตของชาวไร่ ชาวนานั้นจะตื่นแต่เช้ามืด จะกลับเข้าบ้านอีกครั้งหนึ่ง ก็พระอาทิตย์ตกดิน เป็นอย่างนี้ทุกๆวัน เสียงฟ้าร้องฮึ่มๆบวกกับฟ้าแลบแปลบปลาบ สลับกันไปมาเป็นระยะๆ เป็นสีทองส่องประกายดูแล้วช่างสวยงามดี ด้วยความเคยชิน จึงไม่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแต่ประการใด


    👼 มีแต่เด็กเท่านั้นที่ร้องไห้กระจอ งอแง ด้วยความตกใจ พ่อแม่ต้องคอยปลอบประโลม เพื่อให้คลายความหวาดกลัวไปได้บ้าง ร้องไห้ได้ไม่นานก็หลับปุ๋ยไม่รู้เรื่องรู้ราว  ดูเวลา5 ชั่งโมงผ่านไป ฝนเริ่มที่จะซาเม็ดลง น้ำที่รองใส่โอ่งก็เต็มหมดทุกใบแล้ว แต่ถึงกระนั้นฝนก็ยังตกต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะตกไม่หนักเหมือนเมื่อตอนหัวค่ำก็ตาม ทุกบ้านเริ่มกางมุ้ง ปัดที่หลับที่นอนเตรียมที่จะพักผ่อน เพื่อให้มีแรงสู้ในวันถัดไป อากาศสดชื่นเย็นฉ่ำสบายใจ หายใจโล่งคอ ทุกบ้านก็จะดับตะเกียงทุกดวงที่จุดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟไหม้บ้านในขณะนอนหลับ ถ้าเผลอเอามือไปปัดโดนตะเกียงล้มขึ้นมา น้ำมันก๊าซที่ใช้จุดตะเกียง หกรดลงตรงที่นอน จะทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้  ทุกบ้านมืดสนิท คงได้แต่นอนฟังสายฝนและลุ้นดูว่า น้ำจะท่วมนาข้าวหรือเปล่า ไม่นานเท่าไรก็หลับไปในที่สุด


  🌏 และแล้วในช่วงกลางดึกของคืนนั้นเอง เสียงตีเกาะ เคาะไม้ ส่งเป็นสัญญาณดังมาเป็นระยะๆ มันใกล้เข้ามาทุกขณะ พร้อมทั้งเสียงคนตะโกนลั่น ปากต่อปาก"น้ำป่ามาแล้วๆ"หลายครั้ง พอได้ยินคำว่าน้ำป่าเท่านั้น ร่างกายก็กระเด้ง ลุกจากที่นอนโดยอัตโนมัติ รีบคว้าข้าวของเงินทอง เครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นที่ใส่กระเป๋าเตรียมไว้แล้ว เอามาถือไว้อยู่คู่กับตัว ของบางชนิดก็เอาไปเก็บไว้ในที่สูงและปลอดภัยก่อนหน้านั้น  ถ้าบ้านไหนมีลูกเล็กเด็กแดง ก็จะเอาผ้าขาวม้าห่อหุ้มตัวเด็กเอาไว้ และผูกติดไว้กับตัวผู้เป็นพ่อ ช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายนี้ มันช่างตื่นเต้นเล่นเอาอกสั่นขวัญแขวนเหงื่อแตกพลั่ก แม้ว่าอากาศจะเย็นก็ตาม สำหรับบ้านในสมัยก่อนนั้น ข้อดีก็คือใต้ถุนจะยกสูงทำให้น้ำสามารถไหลผ่านลงไปที่ลุ่มได้อย่างสะดวก ทำให้ความเสียหาย จึงเกิดขึ้นน้อยมากและทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี


    😂 แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือนาข้าวที่พึ่งจะดำเสร็จไม่ถึงอาทิตย์ คงจะได้รับผลกระทบมากพอสมควร เพราะว่าความรุนแรงของน้ำป่า คงพัดเอาข้าวกล้า ที่ปักดำลงไปให้ลอยไหลไปกับกระแสน้ำ แต่นั่นก็ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ก็ยังดีกว่าจะต้องมาสูญเสียชีวิต ของคนภายในครอบครัว ทรัพย์สินเสียหายบ้างก็ช่างมัน เดี๋ยวก็หามาทดแทนได้ พอรุ่งอรุณฟ้าสางทุกคนก็ออกไปดูนาที่อยู่กลางทุ่ง ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าก็คือ น้ำได้ท่วมนาข้าวกินบริเวณกว้าง หลายร้อยไร่ แต่นั่นก็ถือว่าไม่เสียหายมากนักเพราะเพิ่งจะเริ่มปักดำ พอน้ำลดเมื่อไร ก็นำข้าวปลูก(ข้าวเปลือก) ที่เก็บไว้นำไปตกกล้า ไม่ถึงเดือนก็งอก มาเป็นต้นข้าวเล็กๆ(ก็คือต้นกล้านั่นเอง) เอาไปปักดำในนาที่ได้รับความเสียหาย บ้านไหนที่ไม่มีพันธุ์ข้าวปลูกเหลือเก็บไว้ ก็จะไปขอยืมพันธุ์ข้าวปลูก ของเพื่อนบ้านเอาไปตกกล้าก่อน พอเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แล้วค่อยนำไปใช้คืน วีถีชีวิตคนในชนบทในสมัยก่อน จะเป็นแบบนี้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยมีน้ำใจซึ่งกันและกัน


     ✌ นี่คือวิถีชีวิตบางส่วนของคนในชนบท ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ คงจะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง ท่านคงพอจะเห็นภาพในอดีต ซึ่งบางคนอาจจะเกิดทันหรือบางคนอาจจะเกิดไม่ทัน ก็ถือว่าเล่าสู่กันฟังนะครับ ต่อไปก็ขอเชิญทุกๆท่าน มาอ่านบทกลอนที่แต่งเอาไว้ เพื่อความรู้ ความบันเทิงกันนะครับ

      🌅 น้ำท่วม นารัก
             (กลอนแปดครับ)

   คำโบราณ  กล่าวไว้  ได้ข้อคิด
ไม่เบือนบิด  แน่นอน  ท่านสอนไว้
ถ้ามดดำ  ดั้นด้น  ขนไข่ไป
อย่างว่องไว  ใคร่หนี  ที่น้ำมา

   อีกไม่นาน  หลอกหนา  ฝนมาแน่
ไม่เปลี่ยนแปร  หลอกใคร  ให้กังขา
เป็นเครื่องชี้  บ่งบอก  ไม่หลอกตา
จริงดั่งว่า  ทุกครั้ง  ไม่รั้งรอ

    เข้าเดือนหก  ทุกครั้ง  เป็นดั่งคิด
ไม่เคยผิด  ฤดู  รู้จริงหนอ
ธรรมชาติ  สรรค์สร้าง  อย่างเพียงพอ
ฝนเกิดก่อ  ตามฤดู  คู่กันมา

   ฝนก็ตก  ชุ่มฉ่ำ  น้ำเต็มบ่อ
ปลาลอยคอ  เวียนว่าย  ส่ายหางหา
มาเป็นคู่  น่ารัก  ประจักษ์ตา
ในธารา  น้ำใส  ได้ชื่นชม

   โบราณว่า  น้ำมา  ปลากินมด
พอน้ำลด  กลับกัน  มันขื่นขม
มดกินปลา  ทันใด  ในโคลนตรม
ปลาติดหล่ม  น้ำแห้ง  หมดแรงไป

   มาดูว่า  น้ำมา  ถ้ามันมาก
ไหลมาจาก  เทือกเขา  เอาไม่ไหว
ปล่อยท่วมนา  ถิ่นนี้  ที่แดนไกล
ต้องทำใจ  ปล่อยวาง  ในกลางคัน

   มาเดี๋ยวเดียว  ก็ไป  ไม่นานหลอก
บางครั้งชอก  ช้ำใจ  ไม่สุขสันต์
เสียหายบ้าง  บางครั้ง  ต้องชั่งมัน
ไม่ว่ากัน  ธรรมดา  อย่าตัดรอน

    น้ำมีค่า  ยิ่งใหญ่  ใช่มีโทษ
มีประโยชน์  มากจัง  ดังคำสอน
ทุกชีวิต  ต้องพึ่ง  พึงสังวรณ์
ทีนาดอน  ชุ่มฉ่ำ  เพราะน้ำดี

   อารัมภบท  ที่กล่าว  เป็นราวเรื่อง
ช่วยประเทือง  ปัญญา  พาสุขขี
คิดจะทำ  อะไร  ให้ใฝ่ดี
จะได้มี  สุขสันต์  นิรันดร


































  


     







   


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น